Tuesday, December 11, 2007

แจ้งข่าวครับ

ขออภัยที่ผมไม่ได้เข้ามาอัพเดทนานราวสองอาทิตย์ บล็อกติดๆขัดๆอย่างไรไม่ทราบ ตอนนี้จึงอยู่ในระหว่างการปรับปรุง มีดำริว่าอาจจะไปเปิดเป็นเว็บเพจ(แบบของฟรีไปก่อน)จึงอยู่ในขั้นตอนการเขียนหน้าเว็บ เพราะเป็นบล็อกแบบนี้ผมว่าไฟล์รูปของผมมันมากเอาการอยู่ โหลดทีหนึ่งมันมีรูปจากทุกหัวข้อโหลดขึ้นมาด้วย ทำให้เสียเวลาและอาจจะยากสำหรับท่านที่ใช้อินเตอร์เน็ตแบบความเร็วไม่สูงนัก

อีกประการหนึ่งคือรูปทั้งหมดนั้น ผมก็เอามาจากตามเว็บ โดยพยายามลงที่มาไว้เพื่อกันปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ แต่ก็หวังว่าท่านเจ้าของรูปนั้นๆน่าจะปรานีต่อการนำรูปมาใช้เพื่อการศึกษา

ทั้งนี้หากมีข้อผิดพลาดติดขัดอีกประการใด จะพยายามแก้ไขปรับปรุงอีกต่อไปครับ

ขอพระธรรมจงแผ่ไพศาล ขอสรรพสัตว์จงเข้าถึงพระธรรมโดยถ้วนเทอญ
ด้วยความเคารพ
ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา

Tuesday, November 27, 2007

พระโพธิสัตว์กษิติครรภ

พระนามหมายถึง"ครรภ์แห่งดิน" ทำให้มีเหตุผลที่ทรงเกี่ยวข้องกับนรก(ที่ถือกันว่าอยู่ใต้ดิน)เนื่องด้วยทรงตั้งปณิธานว่า ตราบใดที่นรกยังเต็มไปด้วยสัตว์นรกทั้งหลายอยู่ พระองค์จะยังไม่ทรงเข้าปรินิพพานจนกว่าจะโปรดสัตว์นรกทั้งหลายให้หมดกระทั่งไม่มีสัตว์นรกเหลืออยู่เลย

ตาม "กษิติครรภโพธิสัตว์ปูรวปณิธานสูตร"(แปลจากสันสกฤตสู่ภาคจีนโดยท่าน ศึกษานันทะ ในสมัยราชวงศ์ถัง)บรรยายว่า ในอดีตชาติพระองค์เป็นบุตรสาวในตระกูลพราหมณ์ แต่มารดาของนางนั้นเป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในศ๊ลธรรมและยังชอบกล่าวลบหลู่พระรัตนตรัย ดังเนื้อเมื่อมารดาถึงแก่กรรมลงจึงต้องตกนรกอเวจี ใช้ผลกรรมในทุคติภูมินั้น ฝ่ายบุตรสาวนั้นเป็นผู้อยู่ในศ๊ลธรรม และทราบแน่ว่ามารดาของตนต้องตกนรกเป็นแน่ จึงได้เพียรพยายามปฏิบัติภาวนา สร้างบุญกุศล ด้วยหมายอุทิศให้แก่มารดาของตน
จากผลการภาวนาของนาง วันหนึ่งนางได้เห็นภาพของนรกและสัตว์นรกต่างๆที่ได้รับความทุกขฺทรมานอยู่ อสูรตนหนึ่งได้บอกแก่นางว่านี่คือภาพของสัตว์ทั้งหลายที่ต้องชดใช้กรรมในนรก นางจึงถามถึงมารดาของตน เมื่ออสูรได้ฟังก็ตอบว่ามารดาของนางนั้นเคยอยู่ในนรกนี้ แต่ได้รับบุญกุศลที่นางอุทิศมา ทำให้ไปสู่สวรรค์แล้ว นางได้ยินดังนั้นก็บังเกิดความยินดี แต่เมื่อยังเห็นสรรพสัตว์ทั้งหลายในนรกอยู่จึงเกิดความสังเวชใจ จึงตั้งปณิธานที่จะโปรดสัตว์นรกทั้งหลายให้พ้นจากนรกให้หมดสิ้นตั้งแต่นั้นมา

ในอินเดียและทิเบต พระองค์ไม่ได้รับการบูชาอย่างแพร่หลายนัก ต่างกับในจีน(พระนามว่า ตี่จั๊ง)และญี่ปุ่น(พระนามว่า จิโซ)ที่ถือว่าเป็นพระโพธิสัตว์ที่สำคัญมากพระองค์หนึ่ง และเป็นใหญ่ที่สุดในนรก
รูปของพระองค์มักแสดงเป็นรูปภิกษุหนุ่ม ถือแก้วมณีซึ่งส่องแสงแห่งการโปรดสรรพสัตว์ในทุกทิศทาง และไม้เท้าขักขระซึ่งมีห่วงหกอันเป็นสัญลักษณ์ของการปลดปล่อยสรรพสัตว์ทั้งภพภูมิทั้งหก


ตี่จั๊ง หรือพระกษิติครรภ์ ในศิลปะจีน มักทรงมงกุฎพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ สวมจีวรเหมือนพระภิกษุในพุทธศาสนาท่วไป
(ภาพจาก http://www.amitabha.idv.tw)


จิโซ ศิลปะญี่ปุ่นสมัยกามากุระ สมบัติของ Mr.and Mrs.John D. Rockefeller 3rd Collection of Asian Art


จิโซ หินสลักที่พบได้ทั่วไปในญี่ปุ่น โดยเฉพาะตามถนนหนทางในชนบท อาจจะพบทั้งแบบองค์เดียวหรือแบบกลุ่มหลายองค์
เชื่อกันว่านอกจากจะเป็นใหญ่ในนรกแล้วพระองค์ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ที่คุ้มครองนักเดินทาง หญิงมีครรภ์ ตลอดจนคุ้มครองวิญญาณของเด็กๆโดยเฉพาะ ดังภาพนี้พ่อแม่ของเด็กที่เสียชีวิตจะนำชุดและหมวกของลูกตนมาใส่ให้กับพระจิโซ เชื่อว่าจะเป็นการคุ้มครองวิญญาณของเด็ก บางครั้งก็มีของเล่นถวายไว้ด้วยเพื่อเป็นการอุทิศให้แก่วิญญาณของเด็กนั่นเอง

Wednesday, November 21, 2007

พระโพธิสัตว์วัชรปาณิ

กิมกังชิ้ว ในจีน ,กองโคชุ ในญี่ปุ่น,ฉักนา ดอรเจ ในทิเบต พระนามแปลว่า ผู้ถือวัชระไว้ในพระหัตถ์ ดังนั้นสัญลักษณ์ของพระองค์คือวัชระ สัญลักษณ์ของพลังอันรุนแรง แข็งแกร่ง และเฉียบพลัน ด้วยพระวรกายสีน้ำเงินและทรงวัชระ เราอาจจดจำพระองค์ได้ว่าอยู่ในสายตระกูลแห่งพระอักโษภยะ(วัชรวงศ์)พระองค์เป็นบุคคลาธิษฐานแห่งกำลังของพระพุทธเจ้าในการทำลายกิเลส สู่การตรัสรู้
พระองค์น่าจะกลายมาจากพระอินทร์ของพระเวทเดิม ด้วยมีสัญลักษณ์วัชระและความเกี่ยวข้องต่อเรื่องฟ้าฝนเช่นเดียวกัน


พระวัชรปาณิ ในฐานะผู้ปกป้องพระพุทธองค์ อยู่ทางขวาของพระพุทธเจ้า ศิลปะคันธาระที่เมืองHaddaในอัฟกานิสถาน ราวพุทธศตวรรษที่6 พระวัชรปาณิแบบนี้ได้เค้ารูปทรงมาจากรูปเฮอคิวลิสเพราะสร้างโดยนายช่างชาวกรีก(หรือนายช่างในตระกูลศิลปะกรีก)


แสดงภาพขยายพระวัชรปาณิ ทรงวัชรแบบกิ่งเดียว


พระวัชรปาณิแบบเฮอคิวลิส(เป็นชื่อเรียกทางศิลปะ) ศิลปะคันธาระอีกชิ้นหนึ่ง


ขวาของพระพุทธเจ้าคือพระวัชรปาณิ สังเกตวัชระที่ถืออยู่ ศิลปะอินเดียสมัยมถุรา ราวพุทธศตวรรษที่7


พระวัชรปาณิศิลปะอินเดียสมัยปาละ ราวพุทธศตวรรษที่13-14 สมบัติของ Metropolitan Museum of Art, New York


พระวัชรปาณิ ที่ จันทิ เมนดุต ศิลปะชวา ราวพุทธศตวรรษที่13


ในศิลปะทิเบตมักแสดงภาพพระองค์ในปางพิโรธเป็นส่วนมาก ทรงวัชระชูขึ้นในพระหัตถ์ขวา พระหัตถ์ซ้ายทรงเชือก สัญลักษณ์แห่งการจับอสูรหรือมาร คือกิเลสต่างๆมาทำลาย ทรงอาภรณ์อย่างเทวะปางพิโรธทั่วไป และเพลิงรัศมีลุกโชนข้างหลัง


พระวัชรปาณิในปางของพระโพธิสัตว์หนุ่ม ทรงอาภรณ์อย่างกษัตริย์ ในศิลปะทิเบตจะแสดงภาพพระองค์ปางนี้แบบเดี่ยวๆไม่บ่อยนัก มักจะแสดงคู่กับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ในฐานะบริวารแห่งพระอมิตาภะ โดยมีพระอมิตาภะเป็นประธานของภาพ


อาเคียว(Agyo)หรือ กองโค ริกิชิ(Kongo rikishi)พระวัชรปาณิในญี่ปุ่นที่เป็นภาคพระโพธิสัตว์(กองโคชุ โบสัตสึ)นั้นไม่ค่อยแพร่หลายมากเท่ากับในภาค กองโค ริกิชินี้ ซึ่งมีหน้าที่คล้ายทวารบารอยู่ที่หน้าประตูทางเข้าวัด พระพักตร์พิโรธ พระวรกายกำยำ กล้ามเนื้อเด่นชัด รูปนี้สูงราว8เมตรครึ่ง ศิลปะสมัยกามากุระ สลักจากไม้ อยู่ที่วัดโตได เมืองนาระ ประเทศญี่ปุ่น สังเกตวัชระขนาดใหญ่ในพระหัตถ์ขวา

Thursday, November 15, 2007

พระโพธิสัตว์มัญชุศรี

ทรงเป็นพระโพธิสัตว์แห่งปัญญา หรือบุคคลาธิษฐานแห่งพระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้า
พระนามหมายถึง “ความรุ่งเรืองงดงาม” หรือหมายถึง เสียงอันไพเราะ(คือพระนาม มัญชุโฆษ) เป็นนัยแห่งการประกาศพระธรรมอย่างไพเราะลึกซึ้ง
ทรงพระนาม เหวินซู หรือบุ่งซู้ ในจีน,มอนจู ในญี่ปุ่น,จัมเปยัง ในทิเบต
ในงานศิลปะทิเบต จะแสดงภาพพระองค์เป็นชายหนุ่มทรงอาภรณ์แบบพระโพธิสัตว์ มีสัญลักษณ์ประจำพระองค์ได้แก่พระขรรค์(ดาบ)ในพระหัตถ์ขวา สัญลักษณ์แห่งการกำจัดอวิชชาและคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาในพระหัตถ์ซ้าย(หรืออยู่บนช่อดอกบัวทางซ้าย)สัญลักษณ์แห่งปัญญาอันสูงสุด
เกี่ยวเนื่องกับการที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์แห่งปัญญา พระองค์จึงได้รับการบูชาจากนักปราชญ์ นักศึกษา กวี (คือพระนาม วาคีศวร,ผู้เป็นใหญ่แห่งคำพูด) ดังนั้นคัมภีร์หลายเล่มจึงบูชาพระนามของพระองค์ในบทขึ้นต้นก่อนเสมอ
นอกจากจะเป็นพระโพธิสัตว์ที่ปรากฏในพระคัมภีร์ ยังเชื่อกันว่าพระองค์อาจจะเป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ เพราะในฝ่ายจีนเชื่อว่า พระองค์ประทับอยู่ที่เขาโหงวไท้ซัว (อู่ไทซาน:ภูเขาห้ายอด) คล้องกับตำนานของเนปาล เรื่องการสร้างสถูปสวยัมภูวนาถที่ว่า พระมัญชุศรีเดินทางจากจีนเพื่อมานมัสการเปลวไฟบนดอกบัวซึ่งเป็นภาคแบ่งแห่งพระอาทิพุทธเจ้า(บางตำนานกล่าวว่าเป็นดอกบัวซึ่งมีรัศมีสว่างไสว ปลูกไว้โดยพระพุทธเจ้าเวสสภู) และได้สร้างสถูปครอบเปลวไฟนี้ไว้
มนตราประจำพระองค์คือ
โอม อะ ระ ปะ ซะ นะ ธิ

พระมัญชุศรีในศิลปะทิเบต ในภาพนี้ไม่ได้ทรงคัมภีร์ไว้ในพระหัตถ์ซ้าย แต่คัมภีร์อยู่บนดอกบัวแทน


พระมัญชุศรี ศิลปะชวา ราวพุทธศตวรรษที่19 ของพิพิธภัณฑ์Museum für Indische Kunst, Staatliche Museen กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ในภาพนี้ทรงคัมภีร์ในพระหัตถ์แนบไว้ที่พระอุระเลยทีเดียว


ในศิลปะจีนและญี่ปุ่น มักแสดงรูปพระองค์ทรงประทับบนราชสีห์ สัญลักษณ์แห่งการบรรลือสีหนาท คือการพระกาศพระธรรมอันยิ่งใหญ่ ในวัดมหายานจะแสดงรูปพระองค์คู่อยู่กับพระสมันตภัทรโพธิสัตว์(โผวเฮี้ยง,ผู่เสียน)ขวาและซ้ายของพระประธานเสมอ


มอนจูโบสัตซึ ศิลปะญี่ปุ่นสมัยกามากุระ ราวพุทธศตวรรษที่18 ของพิพิธภัณฑ์ Tokyo National Museum


สิงหนาทมัญชุศรี ศิลปอินเดีย สมัยปาละ ราวพุทธศตวรรษที่16 สมบัติของ Mr. and Mrs. John D. Rockefeller 3rd Collection of Asian Art


ยมานตกะ(ที่สิ้นสุดแห่งพระยม)หรือ วัชรไภรว อวตารปางพิโรธแห่งพระมัญชุศรี เมื่อพระยมออกทำร้ายชาวบ้าน พระมัญชุศรีจึงอวตารเป็นเทวะปางดุมาปราบ พระเศียรเป็นควาย รัศมีเปลวเปลวเพลิงลุกโชน พระกรมากมายมีศาตราครบ และพระบาทมากมายดุร้ายกว่าพระยมหลายเท่านัก การปฏิบัติบูชาพระองค์ในปางนี้ถือว่าจะทำให้ผู้ปฏิบัติเอาชนะซึ่งความตายได้

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

ในบรรดาพระโพธิสัตว์ตามความเชื่อฝ่ายมหายาน พระอวโลกิเตศวร เป็นพระโพธิสัตว์ที่ได้รับการบูชาแพร่หลายมากที่สุด และเป็นที่คุ้นเคยแม้กระทั่งต่อชาวพุทธฝ่ายเถรวาทแบบบ้านเราเองมาช้านาน
สำเนียงจีนเรียกพระองค์ว่า กวนอิม,ญี่ปุ่นเรียก กันนอน,ทิเบต เรียก เชนเรซิก

พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตา(ในเชิงธรรมาธิษฐานคือพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ทรงตั้งปณิธานที่จะไม่เสด็จเข้านิพพานจนกว่าจะช่วยสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากความทุกข์ พระนามของพระองค์ปรากฏในพระสูตรมหายานสำคัญๆ เช่นปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร,สัทธรรมปุณฑริกสูตร เป็นต้น

แม้ว่าในภาวะของโพธิสัตว์ มักถือกันว่า ไม่เป็นทั้งเพศบุรุษหรือสตรี แต่รูปศิลปะแรกๆของพระองค์ในอินเดีย มักแสดงความเป็นเพศชาย ในขณะที่เมื่อการบูชาพระองค์แพร่หลายเข้าไปในประเทศจีน แรกนั้นนายช่างก็แสดงรูปของพระองค์เป็นบุรุษอยู่ ต่อมาในสมัยหลังเมื่อตำนานพื้นเมืองของจีนเอง เรื่องพระธิดาเมี่ยวซันแห่งอาณาจักรซินหลิง ซึ่งถือว่าเป็นชาติก่อนที่พระองค์จะได้เป็นพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ รูปของพระองค์ได้แสดงลักษณะของสตรีเพศอย่างชัดเจน กลายเป็น เจ้าแม่กวนอิม ที่รู้จักกันดี


พระอวโลกิเตศวร ปางปัทมปาณิ(ผู้ถือดอกบัว) จิตรกรรมที่ผนังถ้ำอชันตา หมายเลข1 ศิลปะคุปตะตอนปลาย หรือหลังคุปตะ(พุทธศตวรรษที่12)
ถือกันว่าเป็นงานจิตรกรรมที่งดงามที่สุดภาพหนึ่งของประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดีย


พระอวโลกิเตศวร ศิลปะอินเดีย สมัยปาละ(พุทธศตวรรษที่16)สังเกตบนมงกุฏทรงรูปพระอมิตาภะไว้เสมอ เป็นสัญลักษณ์ส่วนตัวของพระอวโลกิเตศวรแต่เพียงผู้เดียว(Mr. and Mrs. John D. Rockefeller 3rd Collection of Asian Art)


ปัทมปาณิ ศิลปะเนปาล ราวพุทธศตวรรษที16 แสดงการยืนแบบตริภังค์(เอียงสามส่วน)ที่เป็นท่ายืนคลาสสิคของศิลปะอินเดีย
(Metropolitan Museum of Art)


พระอวโลกิเตศวร ศิลปะเขมร สมัยพระนคร ราวพุทธศตวรรษที่15-16 เล็กๆบนพระเศียรคือรูปพระอมิตาภะ
(Metropolitan Museum of Art)


พระอวโลกิเตศวร ศิลปะชวาภาคกลาง ราวพุทธศตวรรษที่13-14(Musée national des Arts asiatiques-Guimet)


พระปัทมปาณิ ศิลปะศรีวิชัย ราวพุทธศตวรรษที่13 พบที่ไชยา องค์คลาสสิคและงดงามที่สุดของไทย


พระอวโลกิเตศวร ในปางที่พบบ่อยในศิลปะทิเบต ทรงแก้วมณีสัญลักษณ์ของโพธิจิตในสองพระหัตถ์หน้า อีกสองพระหัตถ์ทรงมาลา(ประคำ)สัญลักษณ์แห่งการปฏิบัติ และดอกบัวสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ พระอังสะซ้ายมีหนังกวางพาดลงมา สัญลักษณ์ของความอ่อนโยนและเมตตาต่อสรรพสัตว์
"ษฑักษรีโลเกศวร" หมายถึงพระอวโลกิเตศวรแห่งหกอักษร(ในที่นี้คือพยางค์)อันเป็น มนตร์ประจำพระองค์ที่ชาวทิเบตท่องได้ทุกผู้คน "โอม มณี เปมา ฮูง" หรือสันสกฤตว่า "โอม มณี ปัทเม หูม"


พระอวโลกิเตศวรหนึ่งพันแขน สิบเอ็ดเศียร (สหัสรภุช เอกทศมุข)ศิลปะทิเบต พระหัตถ์และเศียรมากมาย หมายถึงพระปณิธานที่จะช่วยสรรพสัตว์ทุกชีวิตให้พ้นจากความทุกข์


พระกวนอิมพันกร ในศิลปะจีน


พระกวนอิมพันกร ในไต้หวัน พระกรมากมายเหลือคณานับ


พระกวนอิม สมัยซ่ง ราวพุทธศตวรรษที่16-17 ทำด้วยไม้ลงสีสวยงามเป็นที่สุด ปัจจุบันอยู่ใน Nelson-Atkins Museum,Kansas City


เจ้าแม่กวนอิมทรงมังกร ศิลปะจีนร่วมสมัย


เซนจู กันนอน(พระอวโลกิเตศวรพันหัตถ์) ศิลปะญี่ปุ่นสมัยเฮอัน พุทธศตวรรษที่17 (Tokyo National Museum)


"โอม มณี เปมา ฮูง" มนตราที่พบได้ทั่วไปในทิเบต ทั้งสลักไว้ตามหิน เขียนไว้ตามทาง จารึกบนกระบอกมนตร์ และอีกมากมาย


กระบอกมนตร์แบบดิจิตอล จากเว็บ http://www.dharma-haven.org

พระไมเตรยพุทธเจ้า (เมตไตรยพุทธ)

พระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไปที่จะมาตรัสรู้ในภัทรกัลป์นี้ ในพระไตรปิฎกปรากกฏที่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้ไว้สั้นๆใน จักกวัตติสูตร และ พุทธวงศ์ พุทธปกิรณกกัณฑ์ ส่วนในคัมภีร์ชั้นหลังมีกล่าวไว้มากแห่ง เช่นในอนาคตวงศ์ แต่งโดยพระกัสสปะเถระชาวอินเดียใต้ราวพุทธศตวรรษที่18 หรือในอมตรสธาราเป็นต้น
ในงานพุทธศิลปะทิเบต มีทั้งที่แสดงภาพพระองค์ในฐานะของพระพุทธเจ้าและฐานะพระโพธิสัตว์
มีสัญลักษณ์คือ
-พระสถูปบนศีรษะหรือบนมงกุฏสัญลักษณ์แทนการเคารพแด่พระศากยมุนีพุทธเจ้า หรือบ้างก็ว่าเป็นสัญลักษณ์ของพระสถูปที่เก็บบริขารไว้ภายในและจะทรงได้รับเมื่อทรงออกผนวชในชาติที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
-ธรรมจักร์ แสดงถึงการประกาศพระธรรม
-หม้อน้ำ หรือแจกัน ซึ่งบรรจุน้ำอมฤต สัญลักษณ์ของการรักษาไว้ซึ่งพระธรรมอันบริสุทธิ์


พระไมเตรยโพธิสัตว์ สวมมงกุฏพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ สูงประมาณ15เมตร พระดำริสร้างโดยองค์ดาไลลามะที่14 เมื่อปี2523
เมื่อครั้งเสด็จที่วัด ถิกเซ เมืองลาดัก ประเทศอินเดีย


พระไมเตรยโพธิสัตว์ ศิลปะทิเบต


พระไมเตรย ศิลปะมองโกล ยังคงรูปพระสถูปและหม้อน้ำเป็นสัญลักษณ์


พระไมเตรยในรูปของพุทธเจ้า ศิลปะทิเบต ราวพุทธศตวรรษที่23(The Norton Simon Museum)


พระไมเตรยโพธิสัตว์ ศิลปะคันธาระราวพุทธศตวรรษที่7 สังเกตหม้อน้ำที่ปรากฏเสมอ


ในศิลปะมถุรา ซึ่งมีความเป็นอินเดียแท้มากกว่าคันธาระก็ใช้สัญลักษณ์เดียวกัน คือมีหม้อน้ำเล็กๆที่พระชานุ(เข่า)


มิโรกุ โบสัตซึ หรือพระไมเตรยโพธิสัตว์ในชื่อญี่ปุ่น ในท่านั่งพิจารณาถึงสรรพสัตว์ เป็นท่าคลาสสิคของพระไมเตรยที่นิยมในญี่ปุ่น
(จากวัดชูคูจิ ราวพุทธศตวรรษที่12)

พระทีปังกรพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าพระองค์ที่สี่ในสารมัณฑกัลป์ คือนับย้อนจากพระศากยมุนีพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ย้อนขึ้นไป25พระองค์ และเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์แรกที่พยากรณ์พระศากยมุนีพุทธเจ้า เมื่อครั้งยังเสวยชาติเป็นโพธิสัตว์ชื่อ สุเมธดาบส ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต
"....เราสยายผมแล้วเอาผ้าคากรองและหนังสัตว์ลาดลงบนเปือกตม นอนคว่ำลง ณ ที่นั้น ด้วยคิดว่า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวก จงทรงเหยียบเราเสด็จไปเถิด อย่าทรงเหยียบเปือกตมนั้นเลย ข้อนั้นจักเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เรา เมื่อเรานอนอยู่ที่พื้นดิน ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เรา(มิได้)ปรารถนาว่า วันนี้ พระพุทธเจ้าพึงทรงเผากิเลสของเราประโยชน์อะไรแก่เราด้วยเพศที่ใครๆ ไม่รู้จัก และด้วยการทำให้แจ้งซึ่งธรรม ณ ที่นี้ เราพึงบรรลุสัพพัญญุตญาณหลุดพ้นแล้วพึงเปลื้องหมู่สัตว์พร้อมทั้งเทวดาให้หลุดพ้นเถิด ประโยชน์อะไรด้วยเราผู้เป็นคนมีกำลังจะข้ามไปคนเดียวเล่า เราบรรลุสัพพัญญุตญาณได้ และจะช่วยหมู่ชนให้ข้ามได้เป็นอันมาก...."
"....พระพุทธทีปังกรผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชาประทับยืนอยู่เหนือศีรษะเรา ตรัสพระดำรัสว่า ท่านทั้งหลายจงดูชฎิลดาบสผู้มีตบะอันรุ่งเรืองนี้ เขาจักได้เป็นพระพุทธเจ้าในโลกในกัปอันประมาณมิได้แต่กัปนี้...."(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ทีปังกรพุทธวงศ์)


สุเมธดาบส สยายผมลงบนโคลนให้พระทีปังกรพุทธเจ้าเสด็จเหยียบข้ามไป ประติมากรรมศิลปะคันธาระ ปัจจุบันอยูที่พิพิธภัณฑ์กรุงคาบูล อัฟกานิสถาน


พระทีปังกรพุทธเจ้าศิลปะเนปาล พุทธศตวรรษที่22-23 พิพิพธภัณฑ์ปาตาน,เนปาล
ในเนปาล บางครั้งถือว่าพระทีปังกรพุทธเจ้าเทียบเท่ากับอาทิพุทธพระองค์หนึ่ง และยังเป็นพระผู้คุ้มครองในอาชีพค้าขายด้วย ดังนั้นจึงมีการบูชาพระองค์กันอย่างแพร่หลาย