Thursday, November 15, 2007

พระโพธิสัตว์มัญชุศรี

ทรงเป็นพระโพธิสัตว์แห่งปัญญา หรือบุคคลาธิษฐานแห่งพระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้า
พระนามหมายถึง “ความรุ่งเรืองงดงาม” หรือหมายถึง เสียงอันไพเราะ(คือพระนาม มัญชุโฆษ) เป็นนัยแห่งการประกาศพระธรรมอย่างไพเราะลึกซึ้ง
ทรงพระนาม เหวินซู หรือบุ่งซู้ ในจีน,มอนจู ในญี่ปุ่น,จัมเปยัง ในทิเบต
ในงานศิลปะทิเบต จะแสดงภาพพระองค์เป็นชายหนุ่มทรงอาภรณ์แบบพระโพธิสัตว์ มีสัญลักษณ์ประจำพระองค์ได้แก่พระขรรค์(ดาบ)ในพระหัตถ์ขวา สัญลักษณ์แห่งการกำจัดอวิชชาและคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาในพระหัตถ์ซ้าย(หรืออยู่บนช่อดอกบัวทางซ้าย)สัญลักษณ์แห่งปัญญาอันสูงสุด
เกี่ยวเนื่องกับการที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์แห่งปัญญา พระองค์จึงได้รับการบูชาจากนักปราชญ์ นักศึกษา กวี (คือพระนาม วาคีศวร,ผู้เป็นใหญ่แห่งคำพูด) ดังนั้นคัมภีร์หลายเล่มจึงบูชาพระนามของพระองค์ในบทขึ้นต้นก่อนเสมอ
นอกจากจะเป็นพระโพธิสัตว์ที่ปรากฏในพระคัมภีร์ ยังเชื่อกันว่าพระองค์อาจจะเป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ เพราะในฝ่ายจีนเชื่อว่า พระองค์ประทับอยู่ที่เขาโหงวไท้ซัว (อู่ไทซาน:ภูเขาห้ายอด) คล้องกับตำนานของเนปาล เรื่องการสร้างสถูปสวยัมภูวนาถที่ว่า พระมัญชุศรีเดินทางจากจีนเพื่อมานมัสการเปลวไฟบนดอกบัวซึ่งเป็นภาคแบ่งแห่งพระอาทิพุทธเจ้า(บางตำนานกล่าวว่าเป็นดอกบัวซึ่งมีรัศมีสว่างไสว ปลูกไว้โดยพระพุทธเจ้าเวสสภู) และได้สร้างสถูปครอบเปลวไฟนี้ไว้
มนตราประจำพระองค์คือ
โอม อะ ระ ปะ ซะ นะ ธิ

พระมัญชุศรีในศิลปะทิเบต ในภาพนี้ไม่ได้ทรงคัมภีร์ไว้ในพระหัตถ์ซ้าย แต่คัมภีร์อยู่บนดอกบัวแทน


พระมัญชุศรี ศิลปะชวา ราวพุทธศตวรรษที่19 ของพิพิธภัณฑ์Museum für Indische Kunst, Staatliche Museen กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ในภาพนี้ทรงคัมภีร์ในพระหัตถ์แนบไว้ที่พระอุระเลยทีเดียว


ในศิลปะจีนและญี่ปุ่น มักแสดงรูปพระองค์ทรงประทับบนราชสีห์ สัญลักษณ์แห่งการบรรลือสีหนาท คือการพระกาศพระธรรมอันยิ่งใหญ่ ในวัดมหายานจะแสดงรูปพระองค์คู่อยู่กับพระสมันตภัทรโพธิสัตว์(โผวเฮี้ยง,ผู่เสียน)ขวาและซ้ายของพระประธานเสมอ


มอนจูโบสัตซึ ศิลปะญี่ปุ่นสมัยกามากุระ ราวพุทธศตวรรษที่18 ของพิพิธภัณฑ์ Tokyo National Museum


สิงหนาทมัญชุศรี ศิลปอินเดีย สมัยปาละ ราวพุทธศตวรรษที่16 สมบัติของ Mr. and Mrs. John D. Rockefeller 3rd Collection of Asian Art


ยมานตกะ(ที่สิ้นสุดแห่งพระยม)หรือ วัชรไภรว อวตารปางพิโรธแห่งพระมัญชุศรี เมื่อพระยมออกทำร้ายชาวบ้าน พระมัญชุศรีจึงอวตารเป็นเทวะปางดุมาปราบ พระเศียรเป็นควาย รัศมีเปลวเปลวเพลิงลุกโชน พระกรมากมายมีศาตราครบ และพระบาทมากมายดุร้ายกว่าพระยมหลายเท่านัก การปฏิบัติบูชาพระองค์ในปางนี้ถือว่าจะทำให้ผู้ปฏิบัติเอาชนะซึ่งความตายได้

No comments: