Thursday, November 15, 2007

สัญลักษณ์ในพุทธศิลป์ทิเบต

พระอาจารย์โดเงน ผู้ก่อตั้งโซโตเซ็น ในญี่ปุ่นกล่าวว่า "การศึกษาพุทธศาสนา คือศึกษาตนเอง, การศึกษาตนเอง คือละทิ้งตนเอง" นี่น่าจะเป็นคำกล่าวสั้นๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติในพุทธศาสนาได้ชัดเจนทีเดียว พร้อมทั้งเรายังไม่ควรจะลืมพุทธวจนะที่ว่า "การปฏิบัติทั้งหลายเป็นสิ่งที่ท่านจะต้องกระทำเองเพื่อให้ความทุกข์สิ้นไป ตถาคตทั้งหลายเป็นแต่เพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น"

แม้กระนั้นเองชาวพุทธบางส่วน ยังคงให้ความสนใจต่อพิธีกรรม มากกว่าเนื้อหาของศาสนา แม้ว่าตัวพิธีกรรม หรือประเพณีนั้น เป็นกุศโลบายอันดีที่จะทำให้ผู้คนสนใจในพระศาสนาได้ง่ายขึ้น แต่กระนั้นการที่จะได้รับ"ปัญญา"ที่สูงขึ้น ย่อมดีกว่าการรู้เพียงพิธีกรรมเท่านั้น

พุทธศาสนาวัชรยานในทิเบต ก็มากไปด้วยเรื่องราวของพิธีกรรมที่รุ่มรวยเช่นกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายๆคนสนใจพุทธศาสนาสายทิเบตจากการได้เห็นพิธีกรรมอันน่าตื่นตา เรื่องลี้ลับที่มีมนตร์ขลังต่างๆ แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเราได้เข้าใจ "สัญ" หรือความหมายที่อยู่ในตัวพิธีกรรม เพราะเมื่อเราได้เข้าใจในความหมายเหล่านี้ยิ่งขึ้น เราจะระลึกได้ถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ถ่ายทอดออกมาเป็นสัญลักษณ์ต่างๆ ก็พระธรรมคือคำสั่งสอนของพระองค์นี้เองที่ทรงตรัสว่าจะเป็นศาสดาของสาวก เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว

ผู้คนจำนวนมากยังมองว่าพุทธศาสนาแบบทิเบตนั้นเป็นเรื่องของมายาศาสตร์ เป็นเรื่องอภินิหารย์ ปะปนด้วยเวทมนตร์นานา ความจริงแล้วเรื่องเหล่านี้ล้วนมีอยู่ในพุทธศาสนาแบบทิเบต(และแบบไทยเอง) แต่เมื่อได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งจะเห็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงอุปกรณ์ หรือเครื่องช่วยเสริมในบางภาวะเท่านั้น เพระพระพุทธศาสนาแบบทิเบตเองมีแก่นอยู่ที่การปฏิบัติ ด้วยความเข้าใจใน ศูนยตา หรือความว่าง และมุ่งไถ่ถอนกิเลสตนให้เบาบางตามหลักแห่งพระพุทธศาสนาทุกประการ พระลามะผู้มีชื่อเสียงต่างๆ ล้วนเผยแผ่คำสอนที่เน้นลงที่การปฏิบัติ การฝึกตน การชำระจิตใจทั้งสิ้น ส่วนเรื่องปาฏิหารย์ที่มีเข้ามาเพียงเล็กน้อยนั้นก็ล้วนเป็นเรื่องที่อธิบายได้ด้วยการฝึกจิตอย่างดีแล้วนั่นเอง

ข้าพเจ้าจึงหวังว่า การรวบรวมเรียบเรื่ยง เกร็ดความรู้ทางพุทธศิลป์ของข้าพเจ้านั้น น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผูสนใจในพุทธศาสนาแบบทิเบต และผู้ที่เป็นนักปฏิบัติด้วย ทั้งนี้เอง ข้าพเจ้าก็เป็นเพียงผู้ศึกษาตัวเล็กๆ มิใช่ผู้ชำนาญอย่างโปรเฟสเซอร์ ข้าพเจ้ายังเป็น"เสขะ" อยู่ จึงถือว่าการรวบรวมนี้เป็นการนำข้อมูลมาบันทึกไว้ เพื่อที่ความหลงลืมจะได้ไม่ครอบงำข้าเจ้าไปในวันหนึ่งเสียก่อนด้วย

No comments: