แนวคิดของวัชรยานได้รับเรื่องอาทิพุทธ หรือ "ธรรมกาย"มาจากมหายานเดิม และปรากฏเป็นภาพเชิงบุคคลาธิษฐานชัดเจนขึ้นกว่าก่อน จนพัฒนารูปแบบเฉพาะตนไปในนิกายต่างๆ
ดังนี้เอง จึงเกิดเป็นความสับสน ระหว่างอาทิพุทธองค์ต่างๆที่อธิบายไม่ตรงกันบ้างตามแต่ละนิกาย ซึ่งได้สร้างความงุนงงสงสัยกับผู้สนใจอยู่ไม่น้อย
แต่อันที่จริงแล้ว อาทิพุทธ หรือ ธรรมกายนี้ เป็นการอธิบาย"ธรรม"ที่มีมาก่อนการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ธรรมคือกฏของธรรมชาติดำรงอยู่แล้วเกินคาดคะเนนับ เราจะสังเกตเห็นได้ว่า แม้จะมีพระพุทธเจ้าในระบบตรีกายอย่างมากมาย ทั้งนิรมาณกาย และสัมโภคกายที่ผู้ปฎิบัติจะสามารถนิมิตหรือสวดภาวนาถึงได้ แต่พระพุทธเจ้าที่เป็นธรรมกายนั้นกลับไม่มีการปฎิบัติถึงโดยตรง(แม้พระวัชรสัตว์จะนับเป็นพระอาทิพุทธพระองค์หนึ่ง แต่การบูชาและบทสวดของพระองค์นั้น พระวัชสัตว์อยู่ในฐานะของสัมโภคกายของพระสมันตภัทร หรือพระวัชรธรอีกทีหนึ่ง ไม่ใช่ธรรมกาย) นั่นเพราะเหตุว่า ธรรมกายนั้นเป็นสภาวะธรรมอันไม่อาจกำหนดที่ว่างและเวลาลงได้ เป็นสภาวะที่สูงสุดของพระพุทธเจ้า ดังที่ในนิกายนญิงมาอธิบายว่า พระธรรมกายนั้นสั่งสอนเฉพาะในสภาของผู้ที่ตรัสรู้แล้วทั้งหมด เกินกว่าที่ปุถุชนจะเข้าถึงได้ (ยกเว้นในกรณีของท่านติโลปา ที่ถือว่าได้รับการถ่ายทอดคำสอนมาจากพระวัชรธร อาทิพุทธ)
สมันตภัทร
เป็นพระอาทิพุทธ ในนิกายนญิงมา เดิมทีพระนามนี้เป็นชื่อของพระโพธิสัตว์ในมหายาน คือพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ หมายถึง ความดีงามอันแผ่ไปทั่วจักรวาล(จีนเรียก ผู่เซี่ยน, โผ่วเฮี้ยง ญี่ปุ่นเรียก ฟูเกน)เราไม่อาจยืนยันได้ว่าเมื่อพุทธศาสนาวัชรยานรับเอามาและพัฒนาในรูปแบบของตนเองนั้น พระองค์จึงได้กลายเป็นพระอาทิพุทธไปในที่สุด หรือเพียงแต่เป็นการพ้องกันของชื่อย่างน่าประหลาด
ฟูเกนโบสัตซึ
นิกายนญิงมาปะ มีพระอาทิพุทธ คือพระสมันตภัทร แสดงรูปเป็นรูปพระพุทธเจ้าไม่ทรงอาภรณ์ใดๆ เปลือยเปล่าในปางสมาธิ และมีพระวรรณะสีน้ำเงินเข้ม อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความว่างอันไม่มีขอบเขต ทั้งยังทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งความกรุณา หรืออุบาย ในปางที่มีศักติด้วยนั้น ศักติของพระองค์คือ สมันตภัทริ มีวรรณะสีขาว เป็นสัญลักษณ์แห่งปัญญา
วัชรธร
เป็นพระอาทิพุทธในนิกายกาจูและสากยะ พระวรกายสีน้ำเงิน ทรงอาภรณ์อย่างกษัตริย์ มุทราวัชรหูมการ คือพระหัตถ์ยกขึ้นไขว้กันระดับอก พระหัตถ์ขวาทรงวัชร พระหัตถ์ซ้ายทรงระฆัง(ฆัณฏะ)
มุทรา วัชรหูมการ
วัชรสัตว์
เป็นทั้งพระอาทิพุทธ พระธยานิพุทธ(สัมโภคกาย)และพระโพธิสัตว์(ปรากฏในพระสูตรตันตระคือ มหาไวโรจน ตันตระ และ สรฺวตถาคตตตฺตฺวสํคฺรห ตันตระ)พระวรกายสีขาว ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ พระหัตถ์ขวาทรงวัชระในระดับพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายทรงฆัณฎะอยู่ในระดับพระโสณิ(สะโพก)หรือเหนือพระอูรุ(ต้นขา)เล็กน้อย
มนตราประจำพระองค์ อ่านสำเนียงสันสกฤตว่า โอมฺ วัชฺร สัตฺว หูมฺ
สำเนียงทิเบตว่า โอม เบนซา สะโต ฮูง
พระวัชรสัตว์ ศิลปะชวาตะวันออก ราวพุทธศตวรรษที่17
พระวัชรสัตว์ ศิลปะเขมร สมัยพระนคร ราวพุทธศตวรรษที่17
Thursday, November 15, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment