Thursday, November 15, 2007

นิรมาณกาย

นิรมาณกายคือกายที่สามและท้ายสุดแห่งการเนรมิตพระองค์ของพระพุทธเจ้าในระบบตรีกาย กายนี้คือกายแห่งมนุษย์หรือที่เรารู้จักกันดีคือพระศากยมุนีพุทธเจ้า(สักกยมุนึพุทธเจ้า)หรือพระอดีตพุทธเจ้าพระองค์ก่อนก็ตาม* เป็นพระวรกายที่ใช้โปรดสัตว์โลกที่ยังข้องอยู่ด้วยกิเลส
*(แม้จะมีจำนวนมากจนไม่อาจนับได้ แต่ในพระไตรปิฎกระบุไว้27พระองค์ ซึ่งมีเพียง24พระองค์เท่านั้น ที่พระศากยมุนีพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ในชาติต่างๆได้เคยพบและได้รับพยากรณ์ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต)
พุทธประวัติที่เราทราบกันทั่วไปมักจะเป็นพุทธประวัติจากคัมภีร์ ปฐมสมโพธิ(ฝ่ายเถรวาท) หรือ ลลิตวิตระ,พุทธจริต(ฝ่ายมหายาน)
ซึ่งพุทธประวัติในคัมภีร์เหล่านี้มักแทรกเรื่องปาฏิหารย์เข้าไปมากกว่าที่ปรากฏอยู่จริงในพระไตรปฎก ทั้งนี้เพื่อยังให้เกิดศรัทธาแก่ศาสนิกชน ทั้งนี้ในส่วนของพระไตรปิฎกนั้นพระพุทธองค์ทรงตรัสเล่าถึงพระองค์เองในพระสูตรต่างๆ โดยมีใจความคือพระธรรมที่พระองค์ทรงสอนนั่นเอง
*พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ฉบับเรียบเรียงโดยท่านพุทธทาสภิกขุ
*มหากาพย์พุทธจริต(ฉบับสมบูรณ์,แปลจากต้นฉบับภาษาสันสกฤต)โดย อ.สำเนียง เลื่อมใส จัดพิมพ์โดยศูนย์สันสกฤตศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร,กรุงเทพฯ 2547
*คัมภีร์ ลลิตวิสตระ มีฉบับแปลโดย อ.แสง มนวิทูร โดยกรมศิลปากรจัดพิมพ์ เก่ามากแล้วไม่มีจำหน่ายและไม่มีโครงการจะพิมพ์ใหม่(หนังสือดีที่ไม่มีคนซื้อ กรมศิลปฯก็ไม่ค่อยอยากจะลงทุนครับ) ดังนั้นหาอ่านได้ตามห้องสมุดมหาวิทยาลัย หรือโชคดีพอผมเคยพบว่าหลุดมาอยู่แผงแถวท่าช้าง!)
พุทธประวัติที่สำคัญและมักปรากฏเป็นหลักคือ ตอนประสูติ,มหาภิเนษกรมณ์(ออกบวช),มารผจญ,ตรัสรู้,ปฐมเทศนาและปรินิพพาน


พุทธประวัติตอนประสูต ศิลปะอมรวดี ราวพุทธศตวรรษที่7 ขวาบนคือพระพุทธมารดาทรงพระสุบิน ขวาล่างคือพระพุทธองค์ประสูติ สังเกตว่าไม่มีรูปพระพุทธเจ้า มีเพียงดอกบัวเป็นฐานอันแสดงไว้ ด้วยเหตุที่นายช่างศิลป์ในสมัยแรกๆนั้นไม่นิยมสร้างรูปพระพุทธเจ้าจริงๆ ใช้เพียงสัญลักษณ์แทน


ในศิลปะคันธาระ นายช่างสร้างรูปพระพุทธองค์ขึ้นแล้ว ทั้งนี้ คันธาระเป็นศิลปะกรีกที่แผ่มาในอินเดีย ช่างกรีกนิยมสร้างรูปเคารพมาแต่ก่อน จึงมีคติที่สามารถสร้างรูปพระพุทธเจ้าได้


พระพุทธรูปปางประสูติแบบนี้เป็นที่นิยมในญี่ปุ่น จีน พระอาการที่ทรงชี้ฟ้าและดินนั้นแสดงตามพระไตรปิฎกที่ทรงตรัสว่า
"ดูก่อนอานนท์! โพธิสัตว์ผู้คลอดแล้วเช่นนี้ เหยียบพื้นดินด้วยฝ่าเท้าอันสม่ำเสมอ มี พระพักตร์ทางทิศเหนือ ก้าวไป ๗ ก้าว, มีฉัตรสีขาวกั้นอยู่ ณ เบื้องบน, ย่อมเหลียวดูทิศทั้งหลาย และ กล่าว อาสภิวาจา ว่า"เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก, เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก, เราเป็นผู้ประเสริฐสุด แห่งโลก. ชาตินี้ เป็นชาติสุดท้าย. บัดนี้ ภพใหม่ย่อมไม่มี" ดังนี้"


ภาพตอนประสูติศิลปะทิเบต


ตอนมหาภิเนษกรมศิลปะอินเดียสมัยราชวงศ์ศาตวาหนะ ราวพุทธศตวรรษที่3 มีเพียงรูปม้าและฉัตร ไม่มีรูปพระพุทธเจ้าเช่นกัน


มหาภิเนษกรมณ์ศิลปะหิมาลัยตะวันออก ที่วัดอัลฉิ(AlChi)ในลาดัก ราวพุทธศตวรรษที่18


มหาภิเนษกรมณ์ จิตรกรรมไทย ภาพเล็กไปหน่อยครับแต่อยากให้เห็นว่าของไทยเป็นอย่างไร


ตอนตัดพระเมาลี ศิลปะทิเบต


ตอนเดียวกันในศิลปะไทย


มารวิชัย ศิลปะคันธาระ มารเป็นหน้าคน หน้าสัตว์ หน้ายักษ์พิสดาร ที่ขี่อูฐมาก็มี
ประติมากรรมสมบัติของ Freer Gallery of Art, Smithsonian Institution, Washington, D.C.


มารวิชัย ศิลปะจีนจากห้องสมุดถ้ำตุนฮวง ภาพมารล้วนเป็นสัตว์พิสดาร


ศิลปะทิเบตจาก Dharmapala Thanhgka Centre ประเทศเนปาล สังเกตอาวุธของเหล่ามาร เมื่อมาใกล้พระพุทธเจ้าแล้ว ปลายอาวุธล้วนกลายเป็นดอกไม้ แสดงภาวะที่กิเลสไม่อาจเข้าใกล้พระพุทธองค์ได้อีกต่อไป


มารวิชัย จิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ กรุงเทพฯ ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 1 แสดงภาวะการมีชัยเหนือเหล่ามาร(กิเลส)ของพระพุทธเจ้าเช่นกัน แต่จัดให้องค์ประกอบฝ่ายพญามารที่บุกเข้ามาอยู่ทางด้านซ้ายของพระองค์ ส่วนทางขวาของพระองค์ พญามารถือดอกไม้ด้วยแพ้ต่อพระองค์เสียแล้ว


ภาพตอนตรัสรู้ ใช้รูปต้นโพธิ์แทนความหมายของการตรัสรู้ที่เมืองคยา หินสลักที่สาญจีสถูป
*ต้นไม้ชนิดใดก็ตามที่พระพุทธเจ้าพระองค์ใดได้ตรัสรู้ ณ ต้นไม้นั้น ล้วนเรียกว่าต้นโพธิ์ทั้งสิ้น
เช่นต้นอัสสัตถะ อันเป็นไม้ตระกูลมะเดื่อชนิดหนึ่งนี้ เมื่อพระศากยมุนีได้ตรัสรู้ใต้ต้น ก็เรียกใหม่ว่าต้นโพธิ์
หรือต้น นิโครธ สุมังคล อันเป็นไม้ตรัสรู้ของพระกัสสปพุทธเจ้า หรือต้นปิปผลิ อันเป็นไม้ตรัสรู้ของพระทีปังกรพุทธเจ้า ก็ล้วนเรียกไม้เหล่านี้ว่า ต้นโพธิ์ทั้งสิ้น


ธรรมจักร สัญลักษณ์ของการปฐมเทศนา


ธรรมจักร ศิลปะทวารวดี พบที่นครปฐม


ธรรมจักรสัญลักษณ์แห่งการปฐมเทศนาและกวางหมอบสัญลักษณ์ของป่าอิสิปตนมฤคทายวัน คือสถานที่แสดงปฐมเทศนา


รูปพระสถูป เป็นสัญลักษณ์ของการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า


พระพุทธองค์ทรงปรินิพพาน ศิลปะญี่ปุ่น พุทธศตวรรษที่23


ตอนปรินิพพาน ศิลปะทิเบต พุทธศตวรรษที่23

*ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก โรงมหรสพทางวิญญาณ ณ สวนโมกขพลาราม พร้อมคำบรรยาย

1 comment:

Unknown said...

นับว่าเป็นเวปที่น่าสนใจมาก สวยและได้ความรู้ ขอแสดงความชื่นชมในความตั้งใจของคนหนุ่มสาว อีกสักระยะก็ค่อย ๆ ปรับปรุงไปจนลงตัว ถ้าเป็นไปได้ลองสำรวจกลุ่มเป้าหมาย หรือกลุ่มผู้เปิดเข้ามาชม หรือกำหนดกลุ่มผู้ชมได้ก็จะทำให้ผู้ดูแลเวปทำงานได้ชัดเจนขึ้น
สุรสวัสดิ์
s.sooksa@chiangmai.ac.th
tibetan07@gmail.com